จุดกำเนิด ประวัติ และลักษณะทั่วไป ของ กลุ่มภาษากัม-ไท

ขอบเขตการแพร่กระจายของภาษาในกลุ่มนี้เริ่มจากทางตะวันตกของยูนนานไปจนถึงกวางตุ้งและเกาะไหหลำ ผู้พูดส่วนใหญ่รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนท่ามกลางชาวจีนฮั่นหรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สืบทอดมาด้วยภาษาของตนเองซึ่งน่าจะเริ่มต้นมาจากภาษากัม-ไทดั้งเดิม ชาวเยว่ที่เคยแพร่หลายทางตอนใต้ของจีนสมัยโบราณมีภาษาที่มีบรรพบุรุษเดียวกับภาษาในกลุ่มนี้

เยว่เป็นชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกกลุ่มชนที่มีความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่อยู่ในจีนตอนใต้มาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีหลายสาขา เยว่จึงเคยมีชื่อเรียกว่าไป่เยว่ (เยว่ร้อยจำพวก) ในเอกสารประวัติศาสตร์สมัยโบราณของจีนซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่มาก ชนกลุ่มเยว่ในบริเวณต่างกันมีชื่อเรียกต่างกันตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีนไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือในพม่ามีชาวเยว่หลายกลุ่ม เช่น หวู่เยว่ (Wuyue 吳越), ยูเยว่ (Yuyue 於越), โอวเยว่หรือเยว่ตะวันออก (Ouyue 甌越), หนานเยว่ (Nanyue 南越/南粵), ซีโอว (Xi'ou 西甌), หลัวเยว่ (Luoyue 雒越/駱越), หยางเยว่ (Yangyue 揚越), หมิ่นเยว่ (Minyue 閩越), ชานเยว่ (Shanyue 山越), กุยเยว่ และเตียนเยว่ (Dianyue 滇越)

ในช่วงสมัยราชวงศ์ฉินจนถึงราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในหมู่ชาวไป่เยว่ในจีนตอนใต้ซึ่งเกิดจากการสู้รบระหว่างชาวไป่เยว่กับรัฐบาลกลางทำให้มีการจัดการปกครองขึ้นใหม่ มีการอพยพของทหารจีนจากตอนเหนือเข้ามา ชาวเยว่เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มแยกต่างหากจากผู้อพยพเข้ามาใหม่ เกิดการใช้ชื่อเรียกชาวเยว่ในแต่ละที่เป็นการเฉพาะ คำว่าเยว่จึงหายไปจากประวัติศาสตร์จีน

หลังจากยุคราชวงศ์ฮั่นประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 มีชื่อใหม่ เช่น วูฮู ลื้อ และลาวเกิดขึ้น เพื่อใช้เรียกกลุ่มชาวไป่เยว่ที่แตกต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกันมากในหมู่นักประวัติศาสตร์จีนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของคำว่าวูฮู คำว่าลื้อและลาวเริ่มใช้ในพุทธศตวรรษที่ 8-11 ใช้เรียกชาวเยว่ที่อยู่ทางตะวัตกเฉียงใต้ของจีน ในสมัยราชวงศ์ถังมีชื่อของกลุ่มชนลาวกว่า 20 ชื่อ เช่นลาวนานผิง ลาวเจียนนาน ลาววูฮู ลาวปาโจว ลาวอี้โจว ลาวกุ้ยโจว และลาวฉาน

คำว่าจ้วงปรากฏครั้งแรกในหนังสือ A History of the Local Administration in Guangxi เขียนโดย Fan Chengda ในสมัยราชวงศ์ซ้องใต้ แต่โดยมากมักใช้ปะปนกับคำว่าลาว ในกว่างซี คำว่าจ้วงใช้เรียกปนกับพวกลื้อจนถึงสมัยราชวงศ์หมิง ต่อมาจึงใช้คำว่าจ้วงเรียกลูกหลานของกลุ่มชนปู้จ้วงที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกวางสี ทางใต้ของกุ้ยโจวและตะวันตกของกวางตุ้ง

ใกล้เคียง

กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มภาษาจีน กลุ่มอาการขาดยาเบ็นโซไดอาเซพีน กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มอาการมาร์แฟน กลุ่มอาการมือแปลกปลอม กลุ่ม 20 กลุ่ม 7